เปิดบริษัทดีไหม ? by สัมมนานายหน้า “จับมือทำ”

เปิดบริษัทดีไหม ? by สัมมนานายหน้า “จับมือทำ”

เปิดบริษัทดีไหม ? นี่เป็นหนึ่งในคำถามยอดฮิตของนายหน้ามือใหม่หลายคน ที่มักจะถามกันเข้ามาใน สัมมนานายหน้า และ FB Page ต้องขายบ้านหลังนี้ให้ได้ เป็นประจำ

ก็ขอตอบไว้ตรงนี้เลยว่า “เปิดก็ได้ ไม่เปิดก็ได้ครับ” แต่การตอบแฟนเพจ สัมมนานายหน้า แบบนี้นี่บ่อยๆ สักวันก็อาจจะโดนแฟนเพจรุมกระทืบได้ (ฮา) ฉะนั้นวันนี้เรามาดูประโยชน์ของการ เปิด/ไม่เปิดบริษัท กันดีกว่าครับ แล้วค่อยตัดสินใจทีหลัง ยังไม่สายครับ

เปิดบริษัท

1. ขยายทีมงาน สัมมนานายหน้า ได้ง่าย

ทีมงานในการทำนายหน้าจะมีอยู่ 2 ประเภท คือทีมขาย ซึ่งมีหน้าที่ช่วยคุณสร้างยอดขาย และทีมจัดการ ซึ่งช่วยเหลือคุณการทำเอกสาร งานธุรการ บัญชี ภาษีต่างๆ ไม่ว่าจะร่วมงานกับทีมงานประเภทไหนก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่ารูปแบบบริษัท จะช่วยให้ความรู้สึก “มั่นคง” กับทีมงานมากกว่า มันช่วยให้เค้ารู้สึกว่าเจ้าของมีความจริงจังที่จะทำธุรกิจในระยะยาว รวมถึงการเปิดบริษัทเอื้อให้คุณสามารถสร้างระบบสวัสดิการ ประกันสังคม และระบบเงินเดือนพนักงาน ซึ่งจะดึงดูดผู้คนให้เข้ามาร่วมงานกับคุณได้อย่างไม่ยากเย็น

2. ได้สิทธิประโยชน์ด้านการกู้ยืมสถานบันการเงิน

นายหน้าอิสระมักจะมีปัญหาในการยื่นกู้กับสถาบันการเงิน นั่นเป็นเพราะนายหน้าอิสระส่วนใหญ่ไม่ค่อยเก็บหลักฐานในการรับคอมมิชชัน ไม่ค่อยเดินบัญชีธนาคาร และมักจะทำระบบภาษีไม่ถูกต้องตามหลักการ ทำให้มีเครดิตการกู้เงินต่ำมาก การเปิดบริษัทจะช่วยให้คุณสร้างเครดิตได้ง่าย เพียงทำการเดินบัญชี และภาษีให้ถูกต้องตามหลักการ เมื่อบริษัทมีอายุครบ 2 ปี ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ธนาคารส่วนใหญ่เริ่มอนุมัติเงินกู้ โอกาสในการเติบโตจะต่างกับบุคคลธรรมดาลิบลับเลยทีเดียว

3. สามารถทำงานกับลูกค้าที่เป็นบริษัทใหญ่ได้

สิ่งที่นายหน้าอิสระส่วนใหญ่มักไม่ทราบคือ ลูกค้าที่เป็นบริษัทใหญ่ โดยเฉพาะในระดับมหาชน หลายบริษัท มีนโยบาย “ไม่จ่ายคอมมิชชันให้กับบุคคลธรรมดา” เพราะการจ่ายเงินออกจากบริษัทมีความเกี่ยวข้องกับระบบบัญชี และภาษี ที่ต้องอาศัยการวางแผนในระยะยาว ซึ่งการจ่ายเงินมั่วๆ แล้วมาแก้เอาทีหลังนั้น ไม่ง่ายเลยทีเดียว นายหน้าหลายคนที่ทำงานกับบริษัทเหล่านี้ หากต้องการคอมมิชชัน ก็อาจจะต้องให้เพื่อนฝูงเอาบริษัทมารับรายได้ให้ หรือจำต้องเปิดบริษัทมารับก็มีพอสมควร

แต่ถามว่านายหน้ามือใหม่จะต้องเดือดเนื้อร้อนใจมากไหมกับเรื่องนี้ ก็ไม่ต้องขนาดนั้นหรอกครับ เพราะการดีลงานกับบริษัทเหล่านี้ มักจะเกิดขึ้นกับทรัพย์ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่หลัก 100 ล้าน หรือ 1000 ล้านขึ้นไปเสียเป็นส่วนมาก หากคุณยังไม่ได้จับเคสใหญ่ขนาดนั้น ก็ไม่ต้องกังวลครับ และหากเผอิญคุณมีโอกาสได้เล่นเกมใหญ่กับเขาบ้าง พอจบเคส ค่อยเปิดบริษัทมารับคอมมิชชันก็ยังไม่สายครับ

4. มีความน่าเชื่อถือกับลูกค้าต่างชาติ

เวลาที่บริษัทต่างชาติจะส่งคนเข้ามาทำงานในประเทศไทยนั้น ปกติแล้วทางฝ่ายบุคคลจะติดต่อกับบริษัทนายหน้าปลายทางเพื่อให้ช่วยหาที่พักให้กับพนักงาน โดยอาจจะติดต่อให้นำทรัพย์สินที่ดูแลไปนำเสนอเข้าบริษัทหลายๆ เจ้า เพื่อให้บอร์ดบริหารและพนักงานทำการเปรียบเทียบ และคัดเลือก ซึ่งหากคุณเป็นคนนึงที่ต้องการนำเสนองานเข้ากับทางบริษัทต่างชาติเหล่านี้ ก็บอกเลยว่า หลายๆ บริษัท “ไม่รับบุคคลธรรมดา” นะครับ ฉะนั้นหากคุณต้องการเล่นตลาดนี้ แต่ไม่มีบริษัทล่ะก็ลำบากแน่ครับ

5. มีอำนาจต่อรองในเรื่องคอมมิชชัน

ในบางพื้นที่เช่น โซนพัทยา ซึ่งนายหน้ามีการแข่งขันสูงมากๆ นั้น หากคุณต้องการขายโครงการมือหนึ่ง คุณก็สามารถติดต่อเข้าไปยังโครงการเพื่อขอช่วยขายโครงการได้เลยครับ ทั้งบุคคลธรรมดา และนายหน้ามีโอกาสเท่าเทียมกัน แต่ !!! หากคุณเป็นบุคคลธรรมดาล่ะก็ โดยมากเจ้าของโครงการจะมีเพดานค่าคอมมิชชันไว้ไม่เกิน 5% ของยอดขายเท่านั้น แต่นายหน้ารูปแบบบริษัทจะมีเพดานคอมมิชันสูงถึง 7% ของยอดขายทีเดียว อันนี้ไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นธรรมเนียมที่เกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ครับ หากคุณต้องการเล่นตลาดนี้ แล้วการเปิดบริษัทอาจทำให้คุณได้คอมมิชชันสูงขึ้นถึง 40% ไม่เปิดก็บ้าแล้วครับ…

ไม่เปิดบริษัท

1. เริ่มธุรกิจได้ง่ายมากๆ

ใช่ครับ ง่ายกว่าการทำงานพาร์ทไทม์ที่ 7-11 เป็นเด็กเสิร์ฟตามร้านอาหาร หรือการทำธุรกิจเครือข่ายเสียอีก เพราะไม่ต้องสัมภาษณ์งาน ไม่ต้องยื่นใบสมัคร ไม่ต้องสอบใบอนุญาตอะไรทั้งนั้น คุณโทรหาลูกค้าสายแรกเมื่อไร อาชีพนายหน้าของคุณก็เริ่มต้นทันทีครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะประสบความสำเร็จ ก็ต้องมีความรู้ในงานด้วยนะ วงการนี้เข้าง่ายแต่การจะรวยได้ ไม่มีลูกฟลุ๊คครับ

2. ค่าใช้จ่ายต่ำมากๆ

สำหรับนายหน้าอิสระ ต้นทุนในการทำธุรกิจ ก็มีแค่ ค่าโทรศัพท์ ค่าเดินทาง และค่าการตลาดนิดหน่อย ที่เหลือก็มีแค่ค่าครองชีพตัวเองเท่านั้น หากเปิดบริษัทคุณจะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่บริษัทยังไม่มีกำไรซักบาททันที ได้แก่ค่าเช่าสถานที่และค่าทำบัญชี ยิ่งถ้าซื้อแฟรนส์ไชส์ คุณอาจมีค่าใช้จ่ายในการเริ่มต้นธุรกิจถึงครึ่งล้านเลยทีเดียว ยังไม่นับพนักงานที่สมัครมาแล้วจะทำงานได้ตามเป้าหรือไม่ก็ไม่รู้ และพนักงานขายที่วนเวียนกันเข้าๆ ออกๆ ให้เจ้าของปวดหัวเล่นเป็นปี กว่าจะสร้างระบบให้เดินเองได้ หากใครสายป่านไม่ยาวพอ ก็อาจต้องปิดกิจการไปง่ายๆ ทั้งๆ ที่ยังไม่ทันได้สร้างยอดขายเป็นเรื่องเป็นราวด้วยซ้ำ เรื่องนี้ระวังดีๆ นะครับ

3. ความสามารถในการสร้างรายได้ไม่ได้ต่างจากเปิดบริษัท (โดยเฉพาะบริษัทที่ไม่ใหญ่จริง)

ใช่แหละครับ คือการไม่ได้เปิดบริษัทอาจทำให้คุณพลาดโอกาสหลายๆ อย่างในชีวิต แต่เฮ้ย! โลกของอสังหาริมทรัพย์นั้นช่างกว้างใหญ่นัก คุณก็แค่เลือกเกมที่มันไม่จำเป็นต้องใช้บริษัทซะก็สิ้นเรื่อง การปล่อยเช่าปล่อยขายอสังหาริมทรัพย์มือสองทั่วไป การลงทุนซื้ออสังหามือสองเพื่อปรับปรุงแล้วขายทำกำไร การรับจำนองอสังหาริมทรัพย์ หรือการทำกำไรจากการซื้อขายที่ดิน ล้วนเป็นสิ่งที่นายหน้ามือเก๋าเขาทำกันทั่วไปในตลาด และบอกให้นะครับ กำไรเดือนละ 1 – 5 แสนเนี่ย บุคคลธรรมดา ที่มีความรู้ซักหน่อย เค้าก็ทำกันได้เยอะแยะ ที่ผมเคยเจอสูงสุดเนี่ย นายหน้าอิสระบางคนสามารถทำกำไรได้ถึงเดือนละ 5 ล้านเลยทีเดียว แต่อันนี้ค่อนข้างจะยอดมนุษย์ซักหน่อยจะไม่นับก็ได้ครับ

4. เข้าถึงกลุ่มลูกค้าบุคคลธรรมดาได้ง่าย !?!

แปลกแต่จริง ในต่างประเทศนั้น รูปแบบนิติบุคคลนั้นน่าเชื่อถือและมีศักยภาพในการดึงดูดสูงลูกค้ากว่า แต่ในไทยนั้น ถ้าเราเอาความจริงมาคุยกันแบบไม่โกหกตัวเอง “เจ้าของทรัพย์มือสองหลายคนกลัวนายหน้าระบบบริษัท” เพราะเค้ารู้สึกว่าบริษัทนั้น เต็มไปด้วยหลักการ ข้อกฎหมาย และสัญญาต่างๆ เต็มไปหมด ซึ่งถ้าหากลูกค้าทำผิดเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งก็มักจะมีการเรียกร้องค่าเสียหาย ไม่ค่อยยอมความ และไม่สามารถต่อรองค่านายหน้าได้

ผมบอกเลยว่าที่ว่ามาทั้งหมดเนี่ย เป็นความเชื่อที่ “ผิด” ชัดๆ เพราะการที่เจ้าทรัพย์จะเจอนายหน้าที่ดีหรือเลว หรือเขี้ยวลากดินขนาดไหน มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นบริษัท หรืออิสระ มันอยู่ที่ตัวบุคคลล้วนๆ

แต่ถึงอย่างนั้น เคสจริงในตลาดที่ผมและเพื่อนๆ ที่เปิดบริษัท หลายคนเจอก็คือ เจ้าทรัพย์หลายคน “รู้ทั้งรู้ว่าคุณมีบริษัท” ก็ยังขอขอให้คุณทำในนาม “ส่วนตัว” กลัวนั่นนู่นี่ อะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมด ยิ่งต่างจังหวัดนี่ยิ่งแล้วใหญ่ เอาเข้าไป ไทยแลนด์…

5. มีอิสระในการทำงานสูงมากๆ

สิ่งหนึ่งที่หลายคนไม่รู้คือ การเปิดบริษัทนั้นโคตรง่าย แต่การปิดบริษัทนั้นโคตรยาก ต้องเคลียร์บัญชี ภาษี และเอกสารต่างๆ มากมาย ซึ่งใช้เวลาและทรัพยากรพอสมควร นอกจากนี้การเปิดบริษัทยังมาพร้อมกับความรับผิดชอบความคาดหวังของลูกค้าและพนักงาน ไม่ใช่อยู่ๆ เห็นว่าธุรกิจไม่ดีแล้วจะเลิก จะหนีไปทื่อๆ ได้

การที่คุณเริ่มทำนายหน้าโดยยังไม่ได้จดทะเบียนบริษัทนั้น มีข้อดีคือ คุณสามารถลองตลาดได้ ค้นหาความชอบความถนัดของตัวเองก่อนได้ ถ้าไม่ work ก็ปรับเปลี่ยนง่าย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วนายหน้าอิสระที่ “มีความรู้และทักษะที่ถูกต้อง” นั้น สามารถใช้เวลาทำงาน Active ประมาณ 1 – 2 ปี ก็มักจะสามารถสร้างเงินก้อนได้มากพอที่จะผันตัวเป็นนักลงทุนอสังหา หรือหาช่องทางใช้เงินทำงานในด้านอื่นๆ เพื่อสร้าง Passive Income ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ในจุดที่ใช้เงินทำงานได้แล้วนั้น ใครมันจะอยากไปใช้แรงทำงานครับ จริงไหม ?

สรุปก็คือการเปิดบริษัทนั้นมีช่องทางการเติบโดที่กว้างใหญ่กว่าบุคคลธรรมดามากมายนัก ทั้งอำนาจต่อรอง การขยายงาน และการรับลูกค้าต่างชาติ แต่แน่นอนแหละ ถ้าคุณสายป่านไม่ยาวพอคุณอาจจะเจ๊งได้ง่ายๆ กับต้นทุนการดำเนินงานที่สูงปรี๊ด ส่วนบุคคลธรรมดานั้นมีข้อดีตรงที่เริ่มได้ง่าย มีความยืดหยุ่นสูง แต่ก็สามารถทำกำไรในระดับ 1- 5 แสนต่อเดือนได้สบายๆ โดยไม่ต้องแบกภาระอะไรมากมายให้หนักหัว

ถ้าอยากให้ผมฟันธงนะ จริงๆ คือทุกธุรกิจน่ะแหละ ไม่เฉพาะนายหน้าหรอก ตอนเริ่มต้นอย่างเพิ่งรีบสร้างค่าใช้จ่ายครับ เร่งสร้างยอดขายก่อน พออยู่ตัวแล้วค่อยจดบริษัทเพื่อวางแผนขยายก็ยังไม่สายครับ ส่วนไอ้ที่ว่าควรจดบริษัทเมื่อไร รุ่นพี่ผมเค้าสอนหลักการง่ายๆ มาว่า “พอยอดขายถึงมึงก็รู้เองแหละ !”

ก็ตามนั้นคร้าบ รุ่นเพ่…

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ที่ แฟนเพจ ต้องขายบ้านหลังนี้ให้ได้ หรือช่องยูทูป สมองอสังหา และ หน้าเว็บอย่างเป็นทางการ คอร์สลงทุนในบ้านมือสอง

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *